ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 61 พัฒนาดีขึ้น เพิ่มอยู่ที่ระดับ 80.29 พร้อมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรอบด้าน อย่างต่อเนื่อง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร เพื่อสะท้อนถึงปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย และใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.29 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 78.94 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาพรวมเพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ได้แก่ ด้านสุขอนามัย มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.17 และด้านสังคม มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 90.98 สำหรับด้านเศรษฐกิจ   มีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 75.27 ด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 67.18 ส่วนด้านการศึกษา มีการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 54.22

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 81.81  81.67  81.14 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 79.31 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยด้านสุขภาพและด้านสังคมในแต่ละภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีและดีมาก สำหรับด้านเศรษฐกิจของภาคใต้และภาคกลางมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี ขณะที่ด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง และภาคเหนืออยู่ในระดับต้องปรับปรุง ส่วนด้านการศึกษาและด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุงและต้องเร่งแก้ไข

ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กล่าวเสริมถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งจะต้องเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมเกษตรกรทุกระดับน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเน้นให้เกษตรกรรายย่อยสามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับเกษตรกรขนาดกลางและเชิงพาณิชย์ให้มีการต่อยอดไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำบัญชีฟาร์ม พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ด้านการศึกษา เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงสูงวัย จึงควรถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม  พัฒนาศักยภาพทายาทเกษตรกร และเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็ง และด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดการผลิตที่สมดุล ถ่ายทอดความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินและการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สวนป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ

ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 2559 – 2561

องค์ประกอบ/ตัวชี้วัด ปี 2559 ปี 2560 ปี 2561
ประเทศ ภาคเหนือ ภาค ตอ./เหนือ ภาคกลาง ภาคใต้
ดัชนีความผาสุกเกษตรกร 79.77 78.94 80.29 81.67 79.31 81.14 81.81
ด้านเศรษฐกิจ 67.47 74.85 75.27 68.43 73.73 78.53 88.41
ด้านสุขอนามัย 99.01 97.14 98.17 96.73 98.99 98.95 96.66
ด้านการศึกษา 58.35 45.50 54.22 53.76 52.43 56.11 58.92
ด้านสังคม 91.73 90.13 90.98 93.45 91.28 89.89 88.64
ด้านสิ่งแวดล้อม 66.20 66.71 67.18 80.77 60.28 68.07 62.41

ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร เป็นประจำทุกปี ซึ่งวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความผาสุกของเกษตรกร ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และ ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับท่านที่สนใจข้อมูล ผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร โทร. 0 2579 2816 ในวันและเวลาราชการ

*******************************