กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์-ตรวจปริมาณแอลกฮอล์ในเลือดสนับสนุนการลดอุบัติเหตุจราจรทางบกในเทศกาลปีใหม่

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของเครื่อง และให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด สนับสนุนการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก สามารถนำผลไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์  ในเลือด และสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัด เป็นการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เกิดจากผู้ขับขี่ยานพาหนะเมาสุรา โดยส่วนกลางส่งตรวจได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และส่วนภูมิภาคส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสงขลา ซึ่งให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ โดยใช้วัสดุอ้างอิงรับรองและสารมาตรฐาน ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และหากห้องปฏิบัติการพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจควรผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลาทุกๆ  6 เดือน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีใบรับรองผลการสอบเทียบและติดสติ๊กเกอร์รับรองไว้ที่ตัวเครื่อง นอกจากนี้ผู้ใช้ควรดูแลรักษาเครื่องวัดแอลกอฮอล์ฯ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เช่น ไม่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิสูง ระวังไม่ให้เกิดการตกกระแทก ตรวจสอบแบตเตอรี่สม่ำเสมอ ใช้หลอดที่สะอาดในการเป่า และระวังไม่ให้มีน้ำลายเป่าเข้าไปอยู่บริเวณหัววัดภายในเครื่อง เป็นต้น

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ในผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรงไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะทำการเจาะเลือด และส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไปยังห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และส่วนภูมิภาคที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง ทั้งนี้ควรส่งภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อได้ค่าที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุ โดยทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง GAS Chromatography-Headspace (GC-Headspace) ให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 สำหรับช่วง 7 วันอันตรายจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง

“ทั้งนี้หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย

 

***********************