ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจับมือภาคีเครือข่าย ร่วมดำเนินการตามวาระความมั่นคงสุขภาพ 2 ด้านสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพนักระบาดวิทยาภาคสนาม และการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรค ในการประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก หรือ Global Health Security Agenda (GHSA) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557
วันที่ 18 ธันวาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วาระ ความมั่นคงด้านสุขภาพโลก หรือ Global Health Security Agenda (GHSA) เป็นการริเริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือกว่า 40 ประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านโรคติดต่อ ที่สามารถประเมินได้ตามมาตรฐานระดับสากล จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานที่ชัดเจนในหลายด้าน อาทิ ป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเมอร์ส (MERS-CoV) ในปี 2558-2559 ทำให้ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่มีการดำเนินงานด้านความมั่นคงทางสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพอันดับที่ 6 จากประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศที่เข้าร่วม จากการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กิน (John Hopskin University)
วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) เป็นแนวคิดและกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนทุกประเทศในโลกมีสุขภาพที่ดี เน้นการจัดการกับโรคติดต่อด้วยมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ มีการตรวจจับสถานการณ์เสี่ยงต่อการระบาดของโรคที่รวดเร็วและควบคุมโรคได้ทันท่วงที พร้อมกันนี้ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดนโยบาย วางแผนการทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนในแต่ละประเทศมีสุขภาพดีและความมั่นคงที่ดียิ่งขึ้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวตอไปว่า การทำงานวาระความมั่นคงสุขภาพโลก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานนอกกระทรวงฯ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทุกระดับ ตั้งแต่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ประเทศไทยรับผิดชอบการทำงานวาระความมั่นคงสุขภาพโลก 2 ด้านสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพของนักระบาดวิทยาภาคสนาม ที่กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการหลัก และการพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการที่มีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการหลัก โดยทั้งสองหน่วยงานได้ประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาคี เพื่อดำเนินงาน ซึ่งการทำงานถูกแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ 1.การเฝ้าระวังควบคุมโรค ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน และ 2.การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ให้สามารถป้องกันตัวเองและชุมชนจากการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ รวมถึงสามารถเฝ้าระวังโดยการสังเกตการเกิดโรคต่างๆในชุมชน รู้วิธีการรายงานเหตุการณ์ เพื่อการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนต่อไป