สธ. ประกาศ 4 นโยบาย สร้าง ‘คนไทอีสานสุขภาพดี’ ครอบคลุมกลุ่มเด็ก – สูงวัย

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ 4 นโยบายในงานมหกรรมรวมพลคนไทอีสานสุขภาพดี หวังลดปัจจัยเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ควบคู่กับการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ด้านความสะอาดปลอดภัยให้ผู้บริโภค

วันที่ 17 ธันวาคม 2562 นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมรวมพลคนไทอีสานสุขภาพดี : กินเปลี่ยนชีวิต ฟิตร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์ ณ ลานทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนเนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น ทั้งภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพโดยกรมอนามัยในปี 2561 พบค่าดัชนีมวลกายปกติมีแนวโน้มลดลง มีภาวะอ้วนร้อยละ 31.5 ท้วมร้อยละ 19.2 ส่งผลต่อการเกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัยได้ดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและป้องกันโรค โดยสร้างความตระหนัก สร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ทั้งในมิติสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

“ทั้งนี้ นโยบายที่ต้องการให้เกิดผลต่อประชาชนทุกคนคือการดูแลให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางกาย ทางใจ และมีความมั่นคงทางสุขภาพเพื่อให้คนไทยสุขภาพดี โดยกำหนดเป็นนโยบาย 4 เรื่อง ดังนี้ 1) สร้างเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่งเสริมการออกกำลังกาย โภชนาการที่ถูกสุขอนามัย การจัดการด้านอารมณ์อย่างเหมาะสม ให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ 2) พัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์อย่างต่อเนื่อง จนถึงเด็กวัยเรียน ให้มีพัฒนาการสมวัย  มีคุณภาพเพื่อส่งต่อการพัฒนาในระยะถัดไป 3) จัดการดูแลระยะยาวรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นระบบให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ลดจำนวนผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เข้าถึงการบริการอย่างมีศักดิ์ศรี สนับสนุนให้ชุมชน ท้องถิ่น และภาคเอกชนเข้ามาจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ โดยกำกับดูแลให้มีมาตรฐาน และ 4) จัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพอย่างครบวงจรและบูรณาการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ วิกฤตการณ์  ด้านสาธารณสุข โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ การคุ้มครองผู้บริโภค โดยความร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน ท้องถิ่น และเอกชน รวมถึงการพัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจําบ้านในการดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน” ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากประชาชนยังขาดองค์ความรู้ ความตระหนัก และแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงส่งผลต่อสุขภาพทั้งในเขตเมืองและชนบท ประกอบกับการจัดการสุขอนามัยและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามมา ดังนั้นสิ่งที่กรมอนามัยได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนขณะนี้คือการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม (Active Community) การพัฒนาระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหารที่ได้มาตรฐานส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี “อาหารปลอดภัย คนไทยสุขภาพดี” (Safe Food Good Health)  โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาสถานประกอบกิจการด้านอาหาร ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นด้านความสะอาดปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

…………………………………………………..

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 17 ธันวาคม 2562