พก. จัดอบรมภาษามือไทยเพื่อการสื่อสาร ให้ หน่วยงานในสังกัด หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ คนหูหนวก

วันที่ 17 ธ.ค. 62 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมทีเคพาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นางสาวอณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ภาษามือไทยเพื่อการสื่อสาร” ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 17 – 20 ธันวาคม 2562 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด จำนวน 46 จังหวัด ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพฯ ทุกสาขา (Service-Link) จำนวน 5 แห่ง วิทยากรและเจ้าหน้าที่ พก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งสิ้น 60 คน เข้าร่วมงาน

นางสาวอณิรา กล่าวว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) มีภารกิจหลักในด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2561 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนพิเศษ 218 ง ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดมาตรา 20 คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นใด และในมาตรา 20 (7) กำหนดให้มีบริการล่ามภาษามือตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ล่ามภาษามือเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงการสื่อสารของคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (หูหนวก) กับคนทั่วไป ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงมีนโยบายขับเคลื่อนและพัฒนาล่ามภาษามือ เร่งให้มีการผลิตล่ามภาษามือให้เพียงพอในการให้บริการและพัฒนาล่ามภาษามือทั้งระบบ เพื่อเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือให้มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมี พก. ดำเนินการจดแจ้งล่ามภาษามือชุมชนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 659 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานล่ามภาษามือ พร้อมสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย

นางสาวอณิรา กล่าวต่อไปว่า พก. จึงได้ตระหนักถึงปัญหาในการให้บริการในกรณีที่มีคนที่หูหนวก มาขอรับบริการศูนย์บริการคนพิการจังหวัด และหน่วยงานในสังกัด พก. เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ สามารถใช้ภาษามือพื้นฐานในการบริการคนหูหนวกได้ในเบื้องต้น จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ภาษามือไทยเพื่อการสื่อสาร” ประจำปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านภาษามือมีความรู้ทักษะขั้นพื้นฐานด้านการสื่อสาร สามารถจัดบริการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการสำหรับคนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย อันจะส่งผลให้คนหูหนวกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงสิทธิด้านการสื่อสารในสังคมอย่างรอบด้านและการมีทัศนคติที่ดีต่อคนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย ซึ่งกิจกรรมภายในการฝึกอบรมประกอบด้วย การอภิปรายประวัติภาษามือ โครงสร้างภาษามือ แบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติภาษามือไทย ฝึกปฏิบัติการทักทาย การใช้ภาษามือในประโยคคำถาม อารมณ์ ความรู้สึก และการประเมินเพื่อทดสอบการใช้ภาษามือ

“การฝึกอบรมในครั้งนี้ หวังว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านภาษามือจะมีทัศนคติที่ดี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย รวมถึงติดต่อสื่อสาร ให้ข้อมูล และบริการต่างๆ ด้วยภาษามือไทยขั้นพื้นฐานได้เบื้องต้น สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณวิทยากรจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และล่ามภาษามือผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาให้ความรู้ด้านภาษามือในการฝึกอบรมฯ ซึ่งจะส่งผลให้คนหูหนวกสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” นางสาวอณิรา กล่าวในตอนท้าย