“ครูพี่โอ๊ะไม่ทิ้งเด็กปราจีนฯ จัดเสวนาร่วมกับเครือข่าย หวังจัดการศึกษาให้เด็กพิเศษ-เยาวชนที่ทำพลาด เน้นทักษะความรู้ มีอาชีพ และดูแลตัวเองได้ !!

เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ค่ายศิลปะ ทักษะชีวิต” และร่วมเสวนาในการประชุมเครือข่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 สำหรับผู้พิการออทิสติก และเยาวชนผู้หลงผิด ในจังหวัดปราจีนบุรี จัดโดยศูนย์บริการคนพิการ ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงาน กศน.จังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายในพื้นที่ปราจีนบุรี ณ บ้านสวนพฤกษาวารี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดกิจกรรมค่ายศิลปะ ทักษะชีวิต เกิดจากการแบ่งปันของคนปราจีนบุรีอย่างแท้จริง ซึ่งตนก็ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมนี้ ร่วมกับ ครูจินดา กิมกูล ครูโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง (รางวัลครูขวัญศิษย์ จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี) มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะเดินทางมาเปิดกิจกรรมค่ายด้วยตัวเองทุกปี และเมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงาน กศน. จึงต้องการจะผลักดันการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงาน กศน. ให้รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัยอย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยแนวคิดและสไตล์การทำงาน ที่ต้องการรับฟังปัญหาจากผู้ปกครอง ครู เจ้าหน้าที่ ทั้งในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้ได้สะท้อนปัญหาและความต้องการจริง ๆ ที่จะนำไปปรับปรุงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเช่นนี้ จึงเกิดการเสวนาในครั้งนี้ขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น และรอยยิ้มของผู้ที่มาร่วมมือร่วมใจ รวมทั้งมีเป้าหมายเดียวกัน ก็คือการพัฒนาเด็กปราจีนบุรีอย่างเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน ที่จะสามารถเป็นไปได้

ซึ่งทุกความคิดเห็นที่ได้รับในวันนี้ ถือว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงานในหลายประเด็น ทั้งการสนับสนุนให้ครู กศน.ได้รับการอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะในการสอนเด็กพิเศษให้ครอบคลุมทุกประเภท, การเพิ่มจำนวนครู กศน.ให้เพียงพอ, การขยายศูนย์ กศน.ที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ปกครอง, การปรับปรุงกฎ ระเบียบ เกี่ยวกับการจัดการศึกษารองรับเด็กพิเศษ ที่จบการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น หรือการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะนำต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพ และมีงานทำ ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง ซึ่งดำเนินการภายใต้เครือข่ายการทำงานภายในจังหวัดระยอง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครจากวิชาชีพต่าง ๆ จนสามารถสร้างทักษะความรู้ สร้างงาน และสร้างอาชีพ ติดตัวเด็กและเยาวชนภายหลังออกสู่สังคมได้เป็นอย่างดี จึงนำมาสู่การรับฟังความต้องการในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างทักษะด้านอาชีพ แก่เยาวชนในสถาบพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปราจีนบุรี ให้มีทั้งความรู้ขั้นพื้นฐาน มีทักษะที่จะไปสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้มีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว ตลอดจนต้องพัฒนาระบบการเชื่อมต่อผู้เรียนของ กศน.ตั้งแต่อยู่ในสถานพินิจฯ จนออกมาสู่สังคมภายนอก เพื่อติดตามผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนหลุดรอดออกจากระบบการศึกษาของ กศน.ให้น้อยที่สุด

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ความคิดเห็นทั้งสองส่วน จะนำมาขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จได้ คงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายการทำงานระดับพื้นที่เช่นนี้ ทำงานไปพร้อม ๆ กับระดับนโยบายที่จะช่วยวางแผนงาน โครงการ ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากร การพัฒนาบุคลากร ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดเป็นมิติใหม่ของการขับเคลื่อนงานภายใต้การกำกับดูแลของ “รมช.กนกวรรณ วิลาวัลย์” ด้วยการเริ่มต้นจากปัญหาและความต้องการของพื้นที่ สู่เป้าหมายการจัดการศึกษารองรับคนไทยทุกช่วงวัย ทุกประเภท และทุกสถานะทุกคน ให้สมกับปณิธานที่ยึดมั่นมาโดยตลอด ว่า “จะทลายทุกข้อจำกัด และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แม้เพียงคนเดียว

#นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน!!