ชป.คงการระบายน้ำรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม รักษาเสถียรภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก

สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย กรมชลประทาน คงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาเสถียรภาพของลำน้ำ รวมทั้งผลักดันความเค็มด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงปากอ่าวไทย ไม่ให้เกินเกณฑ์ควบคุม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า
ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,451 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม ประมาณ 4,755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ โดยเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,723 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,923 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 4,987 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 2,137 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 462 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 419 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 280 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 277 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ซึ่งมีการเฝ้าระวังสถานีที่สำคัญ (วัด ณ เวลา 7.00 น. เช้านี้)ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.18 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี  วัดได้ 0.11 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) , แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา วัดได้ 0.27 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.17 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้คงอัตราการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 80 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ และเสถียรภาพของลำน้ำ ลำคลอง รวมทั้งผลักดันความเค็มในแม่น้ำสายหลัก พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การระบายน้ำและการบริการจัดการน้ำของกรมชลประทาน จะดำเนินการให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และแผนการจัดสรรน้ำที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะรายงานข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้ รวมทั้งร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต

************************************

 

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์