สช.เตรียมลงดาบ รร.เอกชน หากไม่ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามเกณฑ์จะมีผลต่อการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียน!!

วันที่ 13 ธ.ค. 62 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ ในการดำเนินการปรับเพิ่มเพดานสิทธิการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนว่า การดำเนินการปรับเพิ่มเพดานสิทธิการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากเดิมไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อคนต่อปี มาเป็น 150,000 บาท ต่อคนต่อปี ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ที่ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) มอบให้กับชาวการศึกษาเอกชนตามที่ได้รับปากไว้ และขณะนี้สถานะทางการเงินของกองทุนสงเคราะห์ยังมีความมั่นคงอยู่ สามารถบริหารจัดการจนมีผลประโยชน์เข้ากองทุนเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ อย่างในรอบปีที่ผ่านมา เงินที่กองทุนสงเคราะห์เอาไปลงทุนก็มีดอกผลกลับมาจากการถูกรางวัลที่ 1 ในการซื้อสลากออมทรัพย์ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รับรางวัลนับ 10 ล้านบาทเข้ากองทุน สำหรับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์นั้น เป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดสวัสดิการให้กับผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ซึ่งมาจากดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุนสงเคราะห์ รวมถึงเงินที่ครู (ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา) ส่งสะสมเข้ากองทุนร้อยละ 3 ของเงินเดือน เงินที่โรงเรียนส่งสมทบเข้ากองทุน (ร้อยละ 3 ของเงินเดือนครู) และเงินที่กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนส่งเข้ากองทุน (ร้อยละ 6 ของเงินเดือนครู) โดยนำดอกผลที่เกิดจากเงินส่วนที่โรงเรียนส่งเข้ากองทุนและเงินที่รัฐบาลสนับสนุนเข้ากองทุนมาจัดสวัสดิการให้กับครู แต่จากการตรวจสอบในเชิงลึก ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 62 กองทุนมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 27,000 กว่าล้านบาท ยังพบปัญหาว่ามีโรงเรียนเอกชนบางส่วนยังคงค้าง ไม่ส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน โดยมียอดคงค้างของเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา อยู่ทั้งหมด 337 โรงเรียน บางโรงเรียนค้างนานถึง 90 กว่าเดือน (90 กว่างวด) จนกองทุนจำเป็นต้องระงับการเบิกจ่ายสวัสดิการให้แก่ครูถึง 150 โรงเรียน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชนเป็นอย่างมาก โดยมียอดคงค้างสูงสุดอยู่ที่โรงเรียนเอกชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค้างสูงถึง 77 โรง ภาคใต้ค้าง 30 โรง ภาคเหนือค้าง 17 โรง ภาคกลางค้าง 11 โรง และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครค้าง 15 โรง รวมมียอดคงค้างสูงถึง 23 ล้านกว่าบาท ฉะนั้น การที่กองทุนมียอดคงค้างจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบให้ต้องระงับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการไว้ชั่วคราว มีผลต่อครู 1,159 คน ใน 223 โรง นับเป็นปัญหาสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำเป็นจะต้องเข้าไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยจะไปดูในส่วนของการออกมาตรการในการเร่งติดตาม โดยในเบื้องต้นนั้น การส่งเงินสมทบของเดือนที่ผ่านมาต้องชำระให้เป็นปัจจุบัน ส่วนยอดค้างเก่าจะให้มาเจรจากับทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ ภายในปี พ.ศ. 2562 นี้ หากโรงเรียนใดไม่มาชำระให้เป็นปัจจุบัน ไม่มาตกลงสำหรับหนี้คงค้าง หรือไม่มาติดต่อเพื่อดำเนินการใดๆ สช. จำเป็นจะต้องสั่งชะลอการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียน ทั้งนี้ มาตรา 73 แห่ง พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ระบุไว้ชัดเจนว่า บังคับให้โรงเรียนในระบบต้องส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามเกณฑ์ และต้องรวบรวมส่งภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ดังนั้น ภายในวันที่ 10 มกราคม 2563 ถ้าโรงเรียน 223 โรง ไม่มาชำระให้เรียบร้อย สช. จะสั่งชะลอการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนโรงเรียนทันที ดร.อรรถพล กล่าว!!