อาเซียนรวมใจ สานพลังความร่วมมือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พัฒนาแร่ธาตุอาเซียน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่เพื่อความยั่งยืน

สมาชิกแร่ธาตุอาเซียน พร้อมพันธมิตรจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ร่วมหารือในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุ (ASOMM+3) ครั้งที่ 12 หวังพัฒนาแร่ธาตุอาเซียน เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีทำเหมืองแร่เพื่อความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุ ร่วมกับ 3 ประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 12 (The 12th ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals+3 (China, Japan, Republic of Korea) Consultation: The 12th ASOMM+3) เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกประเทศอาเซียน พร้อมพันธมิตรจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ในการสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งด้านวิชาการ การสำรวจ การผลิต และการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตแร่ธาตุที่มีคุณภาพ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ธาตุระหว่างกันด้วย
โดยความร่วมมือของสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา 3 ประเทศ ดำเนินการภายใต้แผนความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ระหว่างปี 2561-2565 ซึ่งมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ของอาเซียน (ASEAN Minerals Cooperation Action Plan: AMCAP) โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างขีดความสามารถเป็นหลัก ผนวกกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนและโครงการในการประสานงานและสนับสนุนมาตรการยุทธศาสตร์ภายใต้ AMCAP


“แม้การดำเนินงานของเราจะมีความก้าวหน้าที่ดีตามแผนงานที่วางไว้ แต่ด้วยเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการสรรหาทรัพยากรแร่ให้เพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกันต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ธาตุแบบยั่งยืน การประชุมครั้งนี้จึงเป็นช่องทางที่ดีในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและการยกระดับเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประสานประโยชน์จากการสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ระหว่างกัน โดยไทยจะผลักดันให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในชาติอาเซียนได้อย่างราบรื่นและคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อความยั่งยืนสูงสุด” นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย