ชป.วอนทุกภาคส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาร่วมกันใช้น้ำตามแผนฯ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

กรมชลประทาน วอนทุกภาคส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เหตุน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ว่า วันที่ 12 ธ.ค. 62 มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,468 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ  มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,772 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูได้วางแผนจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ไว้ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 500 ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบัน (12 ธ.ค. 62) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,046 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งกรมชลประทานจะทำการควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้(12 ธ.ค. 62) ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค. 62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผักอีก 0.07 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กรมชลประทาน จะดำเนินการจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เป็นไปตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากเกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

**********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์