ชป.วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดการทำนาปรัง เหตุน้ำต้นทุนมีน้อย ไม่เพียงพอสนับสนุน

กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย วอนเกษตรกรลดการทำนาปรัง ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและผลผลิตเสียหาย เร่งประชาสัมพันธ์ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน(4 ธ.ค. 62) 4 เขื่อนหลัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,608 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,912 ล้าน ลบ.ม. โดยที่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,776 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,976 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำ 5,054 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 2,204 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 474 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 431 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 304 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 301 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

สำหรับแผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 2562/63 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไว้รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. (ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 500 ล้าน ลบ.ม.) ต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 อีกประมาณ 2,284 ล้าน ลบ.ม. (ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 350 ล้าน ลบ.ม.) ปัจจุบัน (4 ธ.ค. 62) จัดสรรน้ำตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไปแล้ว 851 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของแผนจัดสรรน้ำฯ

กรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการในการรับมือภัยแล้ง โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้ว เนื่องจากน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก  ไม่เพียงพอสนับสนุน หากทำการเพาะปลูกอาจได้รับความเสียหายได้ รวมทั้งขอให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำปิง น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด สูบน้ำให้เป็นไปตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการให้ความช่วยเหลือโดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนได้ทันที ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ให้มากที่สุด

**********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

4 ธันวาคม 2562