ซีพี เดินหน้าขับเคลื่อน โครงการ เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน “บัลลังก์โมเดล” ต้นแบบการยกระดับศักยภาพกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยั่งยืน ผลผลิตเพิ่มและคุณภาพตรงตามความต้องการตลาด ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจนและการบุกรุกป่า
ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา นายกเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ในรูปแบบ บัลลังก์โมเดล อย่างต่อเนื่องถึงปีนี้ เป็นปีที่ 4 มีเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการ 814 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวม 18,000 ไร่ เทียบกับปีแรก 2559 ที่มีเกษตรกรเข้าร่วม 184 คน พื้นที่ปลูก 4,700 ไร่ สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านมีความเชื่อมั่น โครงการ “บัลลังก์โมเดล” และมีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาขอศึกษารูปแบบเพื่อนำไปขยายผลต่อเนื่อง
“ผลลัพธ์ที่ได้รับจาก “บัลลังก์โมเดล” มากกว่าช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีความรู้และมีเทคโนโลยีช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นช่วยให้ขายได้ราคา ขณะเดียวกันสามารถรับมือกับความเสี่ยง ทั้งภัยแล้งและโรคระบาดได้ สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น และลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมลงได้จากการเลิกเผาตอซัง”นายกเทศบาลตำบลบัลลังก์กล่าว
ด้าน นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะ 4 ปีของการดำเนินโครงการ “บัลลังก์โมเดล” บริษัทฯ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับสนับสนุน เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยยกระดับการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้นำแอพพลิเคชั่น มาช่วยในการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวและขนส่งร่วมกันแก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบัลลังก์และใกล้เคียง เน้นการใช้รถเกี่ยวและรถขนส่งในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ระหว่างคนในชุมชน พร้อมส่งเสริมการใช้โดยบวกเงินรับซื้อผลผลิตเพิ่มอีก 10 สตางค์ต่อกิโลกรัมจากการใช้แอพพลิเคชั่นและนำผลผลิตมาขายให้โรงอาหารสัตว์ซีพีเอฟโดยตรง
“การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบย้อนกลับพื้นที่ปลูกของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แม่นยำขึ้น ช่วยสนับสนุน เป้าหมายสูงสุดของโครงการ ที่ต้องการพัฒนามาตรฐานการปลูกข้าวโพดของเกษตรกรไทย สร้างรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและวัฏจักรหนี้สิน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ผิดกฎหมายหรือรุกป่า ตามแนวทางการจัดหาที่ยั่งยืนของซีพีเอฟ” นายวรพจน์กล่าว
ด้าน นายพนา ทรงสันเทียะ เกษตรกรชาวตำบลบัลลังก์ ปลูกข้าวโพด 45 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2559 กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการฯ เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่ผลผลิตที่ดีขึ้น จากการมีความรู้ในการปลูกที่ถูกต้อง ปรับเวลาการปลูก โดยดูข้อมูลฝนตกในพื้นที่ย้อนหลังไป 10 ปี การใส่ปุ๋ย และจนถึงวันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม มีแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกการเก็บเกี่ยว แม้ว่าในปีนี้ ชุมชนจะเจอภัยแล้งและศัตรูพืชหนักกว่าทุกๆ ปี เกษตรกรจะร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปลูกในฤดูกาลหน้าให้ดีขึ้นต่อไป
“บัลลังก์โมเดล” นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการผนึกพลังภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ช่วยยกระดับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงมีตลาดรองรับ มีการบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจาก โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2557 เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรปลูกข้าวโพด รู้จักการวิเคราะห์ดินด้วยตนเอง นำไปสู่การใช้ปุ๋ยและจัดการพื้นที่ปลูกที่ถูกต้อง ผลผลิตเพิ่ม ต้นทุนลด และ ไม่เผาตอซัง จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เข้ารับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแล้ว 9,449 คน รวมพื้นที่เพาะปลูก 239,921 ไร่ ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ./