กรมสุขภาพจิต แนะผู้สูงวัยไทยเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เน้นการดูแลที่ดี 3 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ และสังคม
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปัจจุบันประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรในวัยอื่นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการสูงวัยของประชากรโลกเป็นประเด็นสำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวคิดในทุกระดับของสังคม ให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงควรได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประชากรโลก ที่เรียกว่า Active Aging ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความหมายไว้ หมายถึง กระบวนการสร้างและรักษาระดับสุขภาวะในผู้สูงวัยให้มีความสามารถในการใช้ร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการชราที่เกิดขึ้นให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการเรียนรู้ การตัดสินใจตามสิทธิที่มีอยู่ และการมีส่วนร่วมต่อสังคม โดยสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้สูงวัย ทั้งนี้ ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราเกิดและอัตราตายที่ลดลงและอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น จากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่า ในปี 2563 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัย จำนวน 12.6 ล้านคนจากจำนวนประชากรรวม 66 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรรวม และคาดว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ จะทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตจึงขอแนะนำการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัย ในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยการมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 3 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนี้
- ด้านร่างกาย การส่งเสริมสุขภาวะทางด้านร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกาย ประกอบด้วย กิจกรรมงานบ้าน เช่น การประกอบอาหาร การทำความสะอาดบ้าน กิจกรรมครอบครัว กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมทางกายต่างๆ ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีส่วนช่วยแค่เพียงเฉพาะป้องกันความเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน อารมณ์ดี มีความสุข และลดภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ ยังมีหลายงานวิจัยที่พบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้คงไว้ซึ่งความจำหรือทำให้ความจำดีขึ้น ความสามารถด้านสติปัญญาดีขึ้น สามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
- ด้านจิตใจ การป้องกันและการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม มีดังนี้ 1) การจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด โดยค้นหาสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดและจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสม 2) การตอบสนองต่อความเครียดอย่างเหมาะสม เมื่อมีความวิตกกังวล หรือไม่สบายใจ ควรปรึกษาบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่ไว้วางใจ 3) เทคนิคการผ่อนคลาย โดยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกถึงการเกร็งและคลาย มีการฝึกอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดความเครียดและมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุจะทำการคลายกล้ามเนื้อได้เองโดยอัตโนมัติ 4) การฝึกสมาธิ โดยการฝึกหายใจร่วมกับจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุผ่อนคลายได้ และ 5) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือวิธีการรักษา จะช่วยให้ผู้สูงอายุลดความเครียดและความวิตกกังวลลงได้
- ด้านสังคม การให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสเลือกทำกิจกรรมทางสังคมที่ตนเองชื่นชอบและสนใจ ได้แก่ 1) กิจกรรมด้านศาสนา เป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุเข้าร่วม เช่น กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ 2) กิจกรรมทัศนศึกษา ส่วนใหญ่สถานที่ที่ผู้สูงอายุต้องการไปเพื่อศึกษาหาความรู้หรือท่องเที่ยว จะเป็นโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางศาสนา นอกจากความรู้แล้วการไปร่วมทัศนศึกษายังเป็นการผ่อนคลาย สนุกสนาน และเพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะ 3) กิจกรรมดนตรี เป็นกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนที่มีความชอบหรือความถนัดในด้านดนตรีเหมือนๆ กัน ซึ่งอาจขยายเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านดนตรีแก่คนรุ่นหลังอีกด้วย 4) กิจกรรมด้านอาชีพ เป็นการรวมกลุ่มคนในชุมชนเพื่อทำอาชีพหรือการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น การทำสมุนไพร ทอผ้า จักสาน แกะสลัก เป็นต้น และ 5) กิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมที่ผู้สูงอายุมีความชำนาญเป็นพิเศษและถ่ายทอดให้แก่บุคคลอื่น กิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณีประจำท้องถิ่น กิจกรรมรดน้ำดำหัววันสงกรานต์ กิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมจะทำให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อีกทั้งจะช่วยลดผลกระทบของความเครียดและช่วยป้องกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเครียดได้
…………………………………………………………………..