อย. เปิดระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโฆษณาเกินจริง

อย. เริ่มเปิดสิทธิให้ประชาชนเข้าใช้ระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ช่วยกันตรวจสอบการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มุ่งเน้น การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในด้านหนึ่งได้มีการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามักพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามกฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ อาหารที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ และเครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน และผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงเลขที่รับอนุญาตโฆษณาในชิ้นงานโฆษณานั้น ๆ ด้วย โดย อย. มีระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณาเก็บข้อมูลรายละเอียดของข้อความที่ขออนุญาตและวันหมดอายุใบอนุญาต ซึ่งในระยะแรกให้สิทธิแก่ส่วนราชการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. จึงได้เปิดให้ประชาชนเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา โดยสามารถเข้าใช้งานระบบได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 เข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” เพื่อเข้าตรวจสอบเลขอนุญาตโฆษณาเบื้องต้น ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานคล้ายกับระบบตรวจสอบเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์ และหากต้องการรายละเอียดเพิ่มขึ้น สามารถดูจากหน้าคำขอโฆษณา โดยใช้ช่องทางที่ 2 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ Open ID พร้อมกับแจ้งขอสิทธิเพื่อเข้าใช้ระบบจาก อย. ผ่านเว็บไซต์ https://privus.fda.moph.go.th หัวข้อ “เจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก”

ทั้งนี้ การตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา ต้องตรวจสอบว่า ขออนุญาตโฆษณาผ่านทางช่องทางใด ข้อความและภาพที่ขออนุญาตตรงกับที่เผยแพร่โฆษณาหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลขออนุญาตไม่ตรงกับชิ้นงานโฆษณาที่เผยแพร่ จะถือว่าไม่ได้รับอนุญาตโฆษณา และหากพบภาพหรือข้อความโฆษณาในลักษณะโอ้อวดเกินจริง จะถือว่าโฆษณาเป็นเท็จ ซึ่ง อย. ได้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบการโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่าย เช่น กสทช. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเข้มข้น หากพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้ประกอบการ การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ ถือเป็นความผิด และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ

***************************************************