กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่งเสริมการจัดการระบบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสุขภาพภาครัฐให้ได้มาตรฐาน แนะหมั่นตรวจสอบ บำรุงรักษาระบบปรับอากาศและระบายอากาศให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในโรงพยาบาล
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกล่าวถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Health care worker) ซึ่งการเฝ้าระวังการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในสถานพยาบาลพบว่ายังมีอุบัติการณ์ที่บุคลากรดังกล่าว เกิดการติดเชื้อวัณโรค จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านอาคารและสภาวะแวดล้อมในหน่วยงานต่าง ๆ ของโรงพยาบาล เช่น จุดคัดกรอง ห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน จุดพ่นยา ห้องตรวจโรคผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ งานผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยใน ห้องแยกโรคผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ ที่มีการออกแบบหรือปรับปรุงยังไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์จึงได้จัดทำโครงการ “ส่งเสริมการจัดการระบบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในสถานบริการสุขภาพภาครัฐ ประจำปี 2562” เพื่อสำรวจและประเมินสิ่งแวดล้อมด้านคุณภาพอากาศในอาคารเพื่อลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (TB) ในสถานพยาบาลภาครัฐ และนำข้อมูลการสำรวจและประเมินปัญหาด้านอาคารและสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานต่างๆ สถานพยาบาลภาครัฐ มาวิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขให้กับโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
นายสมชาย อินทร์เนียม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ ได้ดำเนินการสำรวจโรงพยาบาลตามเป้าหมาย จำนวน 24 แห่ง เพื่อประเมินคุณภาพอากาศในอาคารเพื่อลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (TB) ในสถานพยาบาลภาครัฐ จากผลการดำเนินงานพบว่าระบบปรับอากาศและระบายอากาศที่ควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเป็นอันดับต้นๆ คือ ห้องเอกซเรย์ จุดพ่นยา ห้องทันตกรรม และห้องฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่มีระบบปรับอากาศและระบายอากาศที่เหมาะสม จากสาเหตุหลัก ดังนี้ 1) เป็นอาคารที่สร้างมานาน ไม่ได้มีการออกแบบระบบปรับอากาศและระบายอากาศมาพร้อมอาคาร 2) มีการปรับปรุงอาคารที่มีความหลากหลายตามงบประมาณและความจำกัดของพื้นที่แต่ละโรงพยาบาล 3) ขาดการตรวจสอบและการบำรุงรักษา ทำให้ประสิทธิภาพของระบบการปรับอากาศและระบายอากาศที่มีลดลง 4) จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นพื้นที่เดิมไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และมีการปรับปรุงอาคารโดยขาดที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการควบคุมการติดเชื้อ ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในอาคารได้ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้เสนอแนะให้โรงพยาบาลที่จะปรับปรุงระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ควรปรึกษาหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ปรับปรุง และโรงพยาบาลควรจัดทำแผนการตรวจสอบประจำปี มีการตรวจสอบบำรุงรักษาระบบปรับอากาศและระบายอากาศในโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งมีการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ และใส่ใจในการดูแลระบบปรับอากาศและระบายอากาศให้ได้มาตรฐาน
******************************************