กรมส่งเสริมการเกษตรชูงานท่องเที่ยววิถีเกษตรสนองนโยบายรัฐสร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับงานท่องเที่ยววิถีเกษตรสนองนโยบายรัฐบาล เน้นพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งบริหารจัดการ การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยววิถีเกษตร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม 7 ชั้น 5 กรมส่งเสริมการเกษตร ว่าการท่องเที่ยววิถีเกษตรหรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีผู้เข้าสัมมนาซึ่งรับผิดชอบงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ศูนย์ปฏิบัติการ และศูนย์ขยายพันธุ์พืช รวมทั้งสิ้น จำนวน 123 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยววิถีเกษตร ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนงานท่องเที่ยววิถีเกษตร ปี 2563 โดยยกระดับจากฟาร์มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หน่วยราชการ และแหล่งศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่มีศักยภาพ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว มีองค์ความรู้ สัญลักษณ์และความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละแห่ง มุ่งเน้นกิจกรรมด้านการเกษตรที่ปรับปรุงเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสินค้าของชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว การสร้างมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ การใช้แอปพลิเคชัน หรือ Social Media เป็นช่องทางช่วยในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรมี 7 ด้าน คือ 1. ดำเนินการในรูปของวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม ชุมชน หมู่บ้าน 2. มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ การคมนาคม ความพร้อมชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น 3. มีกิจกรรมการเกษตรที่โดดเด่น หรือนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น วิถีชีวิตทางการเกษตร กระบวนการผลิตทางการเกษตร การผลิตพืช ไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก การเลี้ยงผึ้ง ศิลปหัตถกรรม การแปรรูปจากสินค้าเกษตร วัฒนธรรมเกษตร หรือมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม 4. มีความปลอดภัยทั้งในด้านการเดินทาง การพักค้าง การร่วมกิจกรรมและอื่น ๆ 5. การคมนาคมสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปถึงแหล่งได้ง่าย 6. ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหลักหรือท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ถ้ำ น้ำตก วัด 7. ชุมชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกรมมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 200 แห่ง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพให้มีองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งด้านนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาผลผลิตเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย บรรจุภัณฑ์น่าใช้หยิบจับง่าย สินค้ามีเรื่องราวหรือเรื่องเล่า (Story) รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชน โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน สามารถส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในการสร้างงานสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

****************************

อัจฉรา : ข่าว, พฤศจิกายน 2562

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  กรมส่งเสริมการเกษตร