ยาสมุนไพร ทำง่ายไว้ใช้ในครัวเรือน

ในวันนี้ผมขอนำข้อมูลของสมุนไพรมาให้ ทราบกันอีก โดยวันนี้จะลงลึกไปถึงขั้นตอนการปรุงยาวิธีการปลูก และขั้นตอนสุดท้ายคือ การทำออกมาเป็นยาสมุนไพรเพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคกันการนำสมุนไพรไปปรุงเป็นยาเพื่อใช้บำบัดรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค มีการนำไปใช้ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ ใช้แบบสดและใช้แบบแห้ง ซึ่งจะมีวิธีการปรุงยาที่แยกย่อยไปอีก ตามตำราแพทย์แผนไทยมีทั้งหมด 24 วิธีด้วยกัน แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอวิธีปรุงยาที่สามารถทำเองง่าย ๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ การทำเป็นผง แคปซูล ลูกกลอน การชง การต้ม การดองแช่น้ำมัน ทำครีม ทำขี้ผึ้ง

การทำ เป็นผง ลูกกลอน แคปซูล

 การทำสมุนไพรเป็นผง

สมุนไพรที่จะนำมาบดเป็นผงต้องเป็นสมุนไพรที่ถูกทำให้แห้งสนิทดีแล้ว บดให้ละเอียดเป็นผงด้วยการตำ หรือใช้เครื่องบดยา ก็ได้ วิธีการทำให้แห้งจะใช้วิธีตากแดด ผึ่งลม หรือเข้าตู้อบ ขึ้นอยู่กับ ชนิดของสมุนไพร และความสะดวกของผู้ผลิตก่อนนำสมุนไพรไปทำให้แห้ง ควรล้างทำความสะอาดขจัดสิ่งสกปรกปลอมปนออกให้หมด ถ้ามีขนาดใหญ่มาก มีเนื้อแข็งหรือแห้งยาก เช่น ส่วนที่เป็นราก เหง้า หัว เปลือกเนื้อไม้หรือผล ให้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ขณะยังสดอยู่ เพื่อให้แห้งและบดเป็นผงง่าย

 การทำยาลูกกลอน

เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่ละลายน้ำยากใช้วิธี การต้ม หรือชงไม่ได้ หรือมีรสหรือกลิ่นที่ทานยาก เช่นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน บอระเพ็ด ฯลฯ ยาลูกกลอนนิยมใช้น้ำผึ้งเป็นตัวเชื่อมให้ผงยาเกาะตัวปั้นเป็นลูกกลอนได้

  1. เคี่ยวน้ำผึ้งให้น้ำระเหยออกจนหมด กรองผ่านผ้าขาวบางแล้วกวนต่อจนน้ำผึ้งเย็น
  2. เทผงสมุนไพรในชามแก้วหรือชามกระเบื้องปากกว้าง ค่อย ๆ เทน้ำผึ้งลงไปผสมทีละน้อย คลุกเคล้าจนเหนียวเป็นก้อนปั้นได้
  3. นำไปแผ่ออกเป็นแผ่น ใช้เครื่องพิมพ์ลูกกลอนกดตัวยาจะได้ลูกกลอนขนาดเท่า ๆ กัน หรือจะปั้นเป็นเส้น ๆ แล้วเข้าเครื่องปั้นลูกกลอน หรือใช้มือปั้นเป็นเม็ดขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยก็ได้
  4. ผึ่งแดดให้แห้ง 3-4 วัน หรืออบให้แห้งที่อุณหภูมิ 45 องศา
  5. เก็บใส่ขวดปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ใช้ อายุของยาคือ3 เดือน นับแต่วันผลิตลูกกลอน

 การทำแคปซูล

แคปซูลสำเร็จรูป เป็นการปรุงยาที่มีรสหรือกลิ่นที่ทานยาก มีวิธีการทำที่ง่ายกว่าการทำเป็นลูกกลอนมีเพียงผงสมุนไพรที่จะใช้ทำยา แคปซูลสำเร็จรูป ก็ทำได้แล้ว การเก็บยาในรูปแคปซูลไว้ได้นานกว่าคือ เก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี

  1. นำผงสมุนไพรที่ต้องการใช้ทำยาไปเกลี่ยเทลงบนจานกระเบื้อง ถอดแคปซูลด้านในมากดลงบนผงยา แล้วใช้แคปซูลด้านนอก ปิดให้แน่น ชั่งน้ำหนักให้ได้แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม
  2. นำแคปซูลที่บรรจุตัวยาแล้ว ไปเขย่าในผ้าขาวบางเพื่อให้ผงยาที่เกาะติดแคปซูลด้านนอกหลุดออก
  3. เก็บใส่ขวดปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ใช้ อายุของยาคือ 1 ปี

การชง

เหมาะสำหรับสมุนไพรที่ละลายน้ำง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี ใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้สมุนไพรแห้ง ไม่ว่าจะเป็นใบแห้งหรือผงแห้ง เช่น หญ้าหนวดแมวรางจืด ชุมเห็ดเทศ ภาชนะที่ใช้ชงควรเป็นกระเบื้อง หรือแก้ว

วิธีการชงให้ใช้ตัวยา 1 ส่วน ใส่ลงในภาชนะเติมน้ำร้อนจัด10 ส่วน ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วดื่ม ยาชงนี้ไม่ควรแช่ไว้นาน เพราะจะทำให้กลิ่นและรสของยาเปลี่ยนไป

การต้ม

การต้มยาเหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์สำคัญละลายออกมาในน้ำได้ดี ร่างกายดูดซึมได้ง่าย ตัวยาจะออกมาได้มากกว่าวิธีการชง แต่การต้มนี้จะเก็บไม่ได้นานและมักขึ้นราง่าย ไม่ควรเก็บไว้ค้างคืน ต้มยาดื่มวันต่อวันจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด

วิธีการต้มยาให้สับยาเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่หม้อดินหรือหม้อเคลือบ ซึ่งจะเติมน้ำให้ท่วมยา ต้มไฟปานกลางให้เดือด แล้วลดเหลือไฟอ่อนต้มต่อ 10-30 นาที หรือให้น้ำงวดลงเหลือ 1 ใน 3 ของน้ำที่ใช้ต้ม หมั่นคนยาบ่อย ๆ ป้องกันก้นยาไหม้ แล้วกรองเอาน้ำ ดื่มขณะยายังอุ่น ๆ น้ำที่เหลืออาจเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อใช้ดื่มครั้งต่อไป

การดอง

เหมาะสำหรับสมุนไพร ที่มีสารออกฤทธิ์สำคัญไม่ละลายในน้ำ ต้องใช้เหล้าหรือแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายตัวยาออกมา นอกจากนี้ยังช่วยเป็นยากันบูดให้กับยาสมุนไพรอีกด้วย ยาดองเหล้าห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์

วิธีการดองให้บดตัวยาเป็นผงหยาบ ๆ หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปห่อด้วยผ้าขาวบางหลวมๆ ในโหลแก้วที่มีฝาปิด ใส่เหล้าโรง 28 ดีกรี ให้ท่วมสูงจากตัวยา 2-3 นิ้ว ตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 7-14 วัน เขย่าหรือคนยาเป็นครั้งคราว เมื่อดองครบกำหนดแล้วบีบตัวยาออกจากผ้าขาวบางให้หมด นำน้ำยาที่ได้ใส่ขวดสีทึบปิดฝาให้สนิท

การสกัดด้วยน้ำมัน

เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่ละลายได้ดีในน้ำมันพืช ไม่ละลายในน้ำ มักจะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ที่ใช้ปรุงเป็นยา สำหรับใช้ภายนอก โรคผิวหนัง เคล็ด ขัด ยอก ช้ำ บวม หรือต้องการน้ำมันที่สกัดได้ไปผสมกับตัวยาอื่น ๆ การสกัดด้วยน้ำมัน ทำได้ 2 วิธี คือ วิธีสกัดร้อนและสกัดเย็น ใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและแห้ง

  • วิธีสกัดแบบเย็น

ทำโดยนำสมุนไพรใส่ขวดที่มีฝาปิด เติมน้ำมันพืช(แบบบีบเย็น) ให้ท่วมตัวยา

  • วิธีสกัดแบบร้อน

ทำโดยใส่สมุนไพรลงในกระทะหรือหม้อสแตนเลส ใช้ไฟอ่อน ๆ นอกจากนี้ตำรายาไทย เทน้ำมันพืชลงไปให้ท่วมตัวยาควรคนตลอดเวลา ระวังอย่าให้สมุนไพรไหม้ นาน 2-3 ชั่วโมง กรองน้ำมันที่ได้ด้วยผ้าขาวบาง เทใส่ขวดสีทึบมีฝาปิด

ขี้ผึ้ง/ครีม

เป็นยาที่ใช้สำหรับภายนอก ใช้น้ำมันพืชและขี้ผึ้ง(Beewax) เป็นส่วนผสม เพื่อพาตัวยาซึมสู่ผิวหนัง เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ขี้ผึ้งจะคงอยู่บนพื้นผิวหนังได้นาน เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ที่ผิวหนังหรือ เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อได้ดีกว่า

วิธีการทำขี้ผึ้ง ใช้น้ำมันที่สกัดตัวยาสมุนไพรมาแล้วมาผสมกับขี้ผึ้งในหม้อต้มสองชั้น แล้วเทลงภาชนะ เมื่อตัวยาเย็นลงจะได้ขี้ผึ้ง ส่วนครีม ใช้น้ำมันที่สกัดตัวยามาแล้วผสมกับขี้ผึ้งในหม้อต้มสองชั้น แล้วเติมน้ำจะได้ครีมสมุนไพรหรือจะใช้น้ำพืชผสมกับขี้ผึ้งแล้วเติมน้ำสมุนไพร คนในหม้อต้มสองชั้นไฟอ่อน ๆ ก็จะได้ครีมสมุนไพรเช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือคู่มือ “ปรุงยาสมุนไพรประจำบ้าน” สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) www.wisdomking.or.th