ปั๊มสับปะรดพันธุ์ใหม่ลุยอุตสาหกรรมแปรรูป

กรมวิชาการเกษตร  ส่ง เพชรบุรี 2” สับปะรดพันธุ์ใหม่ลักษณะเด่นโดนใจโรงงานแปรรูป  ผลทรงกระบอก  แกนผลเล็ก  ตาตื้น  ช่วยลดการสูญเสียเนื้อเมื่อเข้าเครื่องปอก  คุ้มแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง  แถมค่าความหวานเฉลี่ยชนะเลิศพันธุ์ดั้งเดิมปัตตาเวีย

นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  สับปะรดเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท   ซึ่งการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมาส่วนมากเป็นไปในด้านการเขตกรรมและการอารักขาพืช   ส่วนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์หรือสายพันธุ์ยังไม่สามารถสร้างพันธุ์หรือสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้  ทำให้พันธุ์ที่ปลูกยังคงเป็นพันธุ์เดิม ปริมาณผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 ตัน/ไร่  ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งการใช้พันธุ์เดิมปลูกติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เกิดการกลายลักษณะไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น การเกิดหนามตลอดทั้งใบ ผลไม่เป็นทรงกระบอก สีเนื้อไม่สม่ำเสมอ  ผลขนาดเล็กลง  และอ่อนแอต่อโรคเหี่ยวสับปะรด

การคัดเลือกสายต้นเป็นแนวทางการปรับปรุงพันธุ์วิธีการหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาสั้น   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี  กรมวิชาการเกษตร  จึงได้ดำเนินการคัดเลือกสายต้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่าพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า และมีลักษณะเหมาะสมสำหรับการแปรรูปตรงตามความต้องการของโรงงาน  ได้แก่ ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอก  ตาตื้น แกนผลเล็ก  เพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อสำหรับแปรรูปสูง  และมีอัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี  ได้เริ่มดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์เมื่อปี  2534   โดยการประเมินและคัดเลือกพันธุ์  การเปรียบเทียบพันธุ์   และการทดสอบพันธุ์ในแหล่งผลิต  ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์  จนประสบความสำเร็จได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในปี 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2” โดยมีลักษณะเด่น คือ มีอัตราส่วนน้ำหนักเนื้อ น้ำหนักผลเฉลี่ย 0.29 ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย  แกนผลเล็ก ตาตื้น  ความลึกตาเฉลี่ย 0.73 – 0.81 ซม.  มีผลทรงกระบอกซึ่งเหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง  ค่าความหวานเฉลี่ย 13.9 – 17.9 องศา บริกซ์ซึ่งมากกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย


           “สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี มีผลทรงกระบอกเหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง  มีความหวานมากกว่าพันธุ์ปัตตาเวียที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบัน  ที่สำคัญมีตาตื้นเมื่อเข้าเครื่องปอกแล้วจึงไม่สูญเสียเนื้อมาก  จึงเหมาะสำหรับการนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง  ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม   ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี มีหน่อพันธุ์ประมาณ 5,000 หน่อ ซึ่งสามารถปลูกขยายได้พื้นที่ 0.5 ไร่

****************************************