วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธานกรรมการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันรักษาป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ จากสถานการณ์
ป่าไม้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 – 2561 แนวโน้มโดยเฉลี่ยพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เร่งขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ในการดำเนินการด้านต่าง ๆ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีการหารือในประเด็นการขับเคลื่อนงานด้านการป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในงานด้านป่าไม้ โดยการนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาใช้ในการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ และการเตรียมรับมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อช่วยเรื่องการป้องกันรักษาป่า การนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการที่ดิน ตลอดจนการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ ได้มอบให้ ทส. เร่งรัดจัดทำอนุบัญญัติหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ รวมถึงการขออนุญาตให้เอกชนส่งไม้สักสวนป่าออกจำหน่ายต่างประเทศ และการขอยกเว้นพิกัดอัตราอากรขาออก พร้อมทั้ง จะได้มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม ที่จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
พลเอกประวิตร กล่าวว่าในเรื่องการแก้ไขข้อปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลได้เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหากมีการแก้ไขแล้วเสร็จจะทำให้เอกชนที่ปลูกไม้ถูกกฎหมายสามารถส่งไม้
สวนป่าออกนอกประเทศได้ เป็นแรงจูงใจให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจและการสร้างธุรกิจไม้ให้โตขึ้น เป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชน ผู้ประกอบการค้าไม้ ภาคเอกชน และยังส่งผลต่อภาพรวมในการเพิ่มพื้นที่ป่าและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
**************************************************