ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างฯใหญ่ หลายแห่ง น้อยกว่าร้อยละ 50 กรมชลฯ กำชับจัดการน้ำอย่างรัดกุม

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง มีน้ำเก็บกักน้อย กรมชลประทาน จึงเฝ้าระวังและดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตามแผนฯอย่างเคร่งครัด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(1 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 47,400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,858 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)
มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,073 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,377 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

 

จากข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 61 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 57,693 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 34,151 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เมื่อนำปริมาณน้ำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าปี 2562 มีปริมาณน้ำในน้ำน้อยกว่าปี 2561 อยู่ถึง 10,293 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันปี 2561

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (1 พ.ย.62) มีจำนวน 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น,
อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า
ร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีจำนวน 8 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำภูมิพล จังหวัดตาก, อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง, อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ, อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง

ทั้งนี้ มีพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยบางแห่ง พอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย
(พืชไร่-พืชผักและพืชอื่นๆ) ได้บางส่วน นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนหน้า

*****************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

1 พฤศจิกายน 2562