เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand” เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและสร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยในอนาคต รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในมิติที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนในมุมที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางอนาคตประเทศไทย ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงวิชาการ อันนำไปสู่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ และประเทศ ผ่านการเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์
โครงการประเทศไทยในอนาคต หรือ Future Thailand มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา รวมทั้งการตั้งรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อทำฉากทัศน์และภาพของประเทศไทย โดยกำหนดทุกช่วง 5 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นใน 10 มิติสำคัญ ซึ่ง วช. ได้วางกรอบการวิจัยเพื่อตอบโจทย์การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันวิจัยของประเทศ 8 แห่ง ได้แก่
1) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2) สถาบันพระปกเกล้า
3) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
4) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
5) ราชบัณฑิตยสภา
6) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
7) มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม
8) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ในการวางหลักการเพื่อใช้ชุดข้อมูลจากเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม มาช่วยฉายภาพอนาคตของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ คาดหวังว่า ส่วนของการทำงานจะมีการนำชุดข้อมูลที่สำคัญมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ในการพัฒนานโยบายระดับประเทศ และเพื่อที่จะสามารถออกแบบกระบวนการ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะนำไปทำมาตรการหรือที่จะนำไปเป็นกลไกต่าง ๆ สำหรับประเทศและภาคประชาชน
ศาตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานจากการวิจัยและนวัตกรรม โครงการประเทศไทยในอนาคต Future Thailand ใน 10 มิติ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง มีประเด็นที่ตรงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน และฉบับในอนาคตที่มีความสอดคล้องกัน เห็นมุมมองของประเทศในอนาคตมากขึ้น โดยการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการตั้งหมุดหมายไว้ใน 13 เรื่อง จึงคาดหวังไว้ว่า จะได้เห็นการหยิบยกประเด็นสำคัญจากฝ่ายวิจัยมาใช้ประโยชน์ สามารถนำมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 ที่จะบังคับใช้ใน พ.ศ. 2566-2570 หากแผนนี้สำเร็จ โดยถูกเขียนบนฐานของวิชาการและข้อมูลต่าง ๆ จะสามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศได้ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า วช.ได้วางกรอบในส่วนของการศึกษาไว้ที่ 10 มิติสำคัญ และยังมองทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร เรื่องของมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติอัตลักษณ์ความเป็นไทย ทางด้านภาษาไทย มิติด้านการเมือง มิติคนไทย 4.0 และมิติด้านการศึกษา อีกหลายมิติที่คิดว่าจะนำไปเป็นกระบวนการร่วมกันตอบโจทย์การฉายภาพอนาคตประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานวิจัย สถาบันวิจัยชั้นนำที่รวมกัน 10 หน่วยงาน ก็จะมาใช้ภาพฉายของขอบเขตของการทำงานในเชิงของมิติต่าง ๆ ในการออกแบบกระบวนการที่มีความหลากหลายแต่มีจุดร่วมร่วมกัน คือ มองให้เห็นภาพของการที่จะนำชุดข้อมูลมาออกแบบนโยบายในอนาคต ซึ่งขณะนี้ในภาพใหญ่ของการออกแบบนโยบายคงไม่ได้มองเฉพาะในเรื่องเชิงกระบวนการ แต่คงจะมองในเรื่องของชุดข้อมูลร่วมที่จะนำส่งต่อจากทางภาควิจัยโดย วช. แต่ขณะนี้ยังอยู่ในเฟสที่ 1 คาดว่าหลังจากที่จบเฟสที่ 1 แล้ว ในชุดข้อมูลแรกก็จะไปเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึง กรอบทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องให้ความสำคัญกับพลังของชุมชนในระดับฐานล่าง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับท้องถิ่น นำฉากทัศน์สังคม ชนบท ท้องถิ่น แบบสมดุลและยั่งยืนมากำหนดเป็นส่วนหนึ่งของทิศทางการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสังคมชนบท การจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัด ต้องคำนึงถึงอนาคตระยะยาวของสังคมชนบทในระยะ 15-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจาการศึกษาวิจัย พบว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจากฐานล่าง ต้องปรับกระบวนทัศน์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศให้ขับเคลื่อนจากระดับฐานล่างโดยพลังของชุมชน ลดบทบาทภาครัฐจากการเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด มาเป็นผู้สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ภาคชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งกรอบทิศทางการพัฒนา ที่ขับเคลื่อนชุมชนไปสู่เป้าหมายฉากทัศน์สังคม ชนบท ท้องถิ่นแบบสมดุลและยั่งยืน เพื่อไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาในอนาคต รวมถึงสร้างบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้เอื้อต่อการสังคมชนบทที่สมดุลและยั่งยืน และลดการใช้นโยบายเชิงประชานิยมของรัฐบาลและพรรคการเมือง ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ควรเชื่อมั่นในพื้นที่ เชื่อมั่นในศักยภาพของคนในพื้นที่ พลังของพื้นที่ จะนำไปสู่การพัฒนา”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในวงเสวนาว่า การวิจัยชี้ให้เห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โตช้าลง ในช่วงระยะ 5 ปี และต่อไป จะลดลงเหลือร้อยละ 3 แนวโน้มโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ด้านเกษตรจะเติบโตช้าลง กลุ่มอุตสหกรรมก็จะเล็กลง แต่กลุ่มบริการจะมีอัตราสูงขึ้น โครงสร้างประชากร ประเทศไทยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงอายุเร็วกว่าเพื่อนบ้าน ความเหลื่อมล้ำเพิ่กลับมา เศรษฐกิจปรับไม่ทันเทคโนโลยี เสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความท้าทายของไทย ในการแก้ไขปัญหา คือ ความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย แก้ไขข้อจำกัดของรัฐ โจทย์ที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ แก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาพื้นฐานที่ถดถอย เช่นให้ บริษัทลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาการเรียนสอนแบบฝึกทักษะตามที่ตลาดต้องการ และปฎิรูปกฎหมาย ควรทำกิโยติน กฎหมาย หากทำได้ จะลดต้นทุนถึง 1.3 แสนล้านบาท หรือ 0.8 เปอร์เซนต่อปี
คุณวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของรัฐในการวางอนาคตประเทศไทยในการเสวนาว่า รัฐได้วางกรอบการพัฒนาใน 6 ด้านหลัก ๆ คือ การพัฒนาระบบบริหารภาครัฐให้โปร่งใส่ เสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ รวมถึงโลจิสติกส์ การยกระดับการศึกษา นำไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมองถึง Global Megatrends หรือแนวโน้มบริบทโลก ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การขยายตัวของเมือง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรอบการพัฒนาของรัฐที่ได้วางไว้ จึงได้มีแนวทางการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ โดยการพัฒนาจากฐานล่าง เพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนและท้องถิ่น สร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมแก่ Startup/SMEs ในการสร้างนวัตกรรม การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและดิจิทัล และการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการเข้าถึงโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ “การปรับโครงสร้างภาครัฐ รัฐบาลต้องขจัดปัญหาคอรัปชั่น เพื่อให้การเจริญเติบโตของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” คุณวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานแผนงานคนไทย 4.0 กล่าวถึงแนวโน้มโลก แนวโน้มไทย ว่า GDP ระดับความสุขประเทศไทยอยู่ในครึ่งบน ยกเว้นเรื่องคอรัปชั่น ในส่วนแนวโน้มโลก โลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 19 มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มนุษย์ต้องพัฒนา และหาที่ทางของตัวเอง ในระยะ 10 ปี ต่อจากนี้ ร้านอาหาร 86 เปอร์เซ็น ร้านค้าปลีก 75 เปอร์เซ็น จะใช้หุ่นยนต์ รวมถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมบริหการ เช่น การแพทย์ทางไกล AI การพาณิชย์เชิงอิเล็กทรอนิกส์ VDo conference เศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นแบบ touchless economy , cashless economy , Lazy economy การผลิตและการค้า เปลี่ยนเป็นการผลิตทนแทนในประเทศมากขึ้น เกิดห่วงโซ่การผลิตหวนกลับ จาก just-in-time เป็น Just – in -case และการเมือง จะเห็นการรวมศูนยอำนาจมากขึ้น ชาตินิยมมากขึ้น ทุนนิยมเฝ้าระวัง (Surveillance economy)
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และทีมนักวิจัยจากโครงการ Future Thailand ร่วมกันฉายภาพผลจากการวิจัย ในกรอบการศึกษา 10 มิติสำคัญ คือ มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคม มิติที่ 2 สังคม ชนบท ท้องถิ่น มิติที่ 3 การศึกษาไทย มิติที่ 4 สิ่งแวดล้อมและพลังงาน มิติที่ 5 เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม มิติที่ 6 มิติเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ มิติที่ 7 วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) มิติที่ 8 การเมืองมิติที่ 9 บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และ มิติที่ 10 คนไทย 4.0
ขณะนี้ วช. เตรียมนำเสนอผลจากการวิจัย ต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นชุดข้อมูลสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องกรอบนโยบายระดับประเทศ เพื่อใช้ข้อมูลในการออกแบบเชิงนโยบาย หรือมาตรการ ลดความเสี่ยง และวางอนาคตได้อย่างทันท่วงทีและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น