สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัย แก่ นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อการผลิตนวัตกรรมใหม่ เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก สำหรับการผลิตข้าวกล้องฮางงอกคุณภาพดี ช่วยอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวฮางงอก เป็นการทำข้าวกล้องงอก จากการนำข้าวเปลือกที่มีอายุก่อนการเก็บเกี่ยว มาแช่น้ำ ทำการเพาะงอก นึ่ง และผ่านการอบแห้ง ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวอีสาน นิยมบริโภคเพื่อเป็นยา เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหาร และมีราคาค้าปลีกที่สูง เดิมทีวิธีการผลิตของชาวบ้าน ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และใช้เวลาในการผลิตข้าว ประมาณ 7 วัน
ปัจจุบัน คณะนักวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณ ยั่งยืน จากสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ได้ศึกษาคิดค้น นวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการผลิตข้าวกล้องงอก ให้สำเร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากเดิม 3 วัน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่สามารถลดการใช้แรงงานลงได้ 2.5 – 3 เท่า อีกทั้งประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยใช้ไฟฟ้าเพียง 40 บาท และใช้น้ำ 1,000 ลิตร เท่านั้น ต่อจำนวนการผลิต 500 กิโลกรัม ประหยัดน้ำมากขึ้นถึง 5 เท่า โดยได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินงาน ขณะนี้ วช . ขยายผลไปใน 5 เขตพื้นที่ดำเนินโครงการ
เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก ใช้วิธีการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกในถังเดียวกันโดยใช้ระบบน้ำแบบหมุนเวียน ฉีดสเปรย์น้ำให้ไหลผ่านลงบนเมล็ดข้าว ประมาณ 20-30 นาที และหยุดพักประมาณ 60-90 นาที โดยก้นถังออกแบบให้ปริมาณการไหลเวียนและระยะตกลงถังพักที่เหมาะสมจึงทำให้เกิดปริมาณก๊าซออกซิเจนเพิ่มขึ้นในขั้นตอนนี้ได้ การหยุดพักและการฉีดสเปรย์น้ำหมุนเวียนเป็นวัฏจักรคาบเวลาเป็นการทำให้เกิดอุณหภูมิภายในถังเพาะงอกที่เหมาะสมต่อการงอกเมล็ดข้าว ซึ่งพบว่าเกิดการงอกในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงช่วยย่นระยะเวลาการผลิตให้สั้นลง และได้ผลผลิตคุณภาพดียิ่งขึ้น มีกลิ่มหอม เนื้อสัมผัสดี ตอบโจทย์การผลิตในจำนวนมาก แต่ลดต้นทุนด้านการผลิตและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังปรากฏ สารกาบาในข้าวฮางงอกจากการใช้นวัตกรรม มากถึง 2977 mg/100 g เพิ่มขึ้นจากวิธีการดั้งเดิม 300 เท่า
รศ. ดร.สุพรรณ ยั่งยืน เปิดเผยว่า การพัฒนานวัตกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป โดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาและกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน นวัตกรรมสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรยุคเก่าและยุคใหม่ในการตัดสินใจแปรรูปผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถออกแบบให้มีความยืดหยุ่น สำหรับการนำไปใช้ในลักษณะพื้นที่ต่าง ๆ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มสนับสนุนของจังหวัดต่าง ๆ ดังเช่น ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการยอมรับและสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าว ไปใช้ต่อยอดในการผลิตข้าวฮางงอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ