วันที่ 4 มีนาคม 2564 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการลงนามระหว่าง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องแถลงข่าวศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ชั้น 3 อาคารกรมควบคุมมลพิษ
นายอรรถพล เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่มากขึ้น ได้แก่ ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางน้ำ และปัญหาขยะมูลฝอย ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน คพ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรการในการจัดการ ควบคุม และแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยอยู่ระหว่างการศึกษาองค์ประกอบของสารเคมีและผลกระทบต่อสุขภาพในฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งการศึกษาดังกล่าวในเบื้องต้นพบว่าฝุ่น PM2.5 มีผลเป็นพิษต่อ เซลล์เยื่อบุระบบทางเดินหายใจ และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอขอทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
นายแพทย์บรรจง กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกันในวันนี้ จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัย บริการทางวิชาการ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม ในมิติการแพทย์ สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมายและนโยบายสาธารณะ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทางปฏิบัติ และการพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายการศึกษาวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ตามกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ แก่สังคมต่อไป